มูลนิธิ Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation (PAM)
ความในใจ… จากเฮมิช มากอฟฟิน
เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้สูญเสียประณัยยา ภรรยาของผมและอาร์เธอร์ ลูกชายวัย 5 เดือนของเราไปด้วย โรคซึมเศร้าหลังคลอด
ผมรู้สึกซาบซึ้งในกำลังใจและความปรารถนาดีอย่างล้นหลามนับตั้งแต่ประณัยยาและอาเธอร์จากไป ทั้งจากคนที่ผมไม่ได้พบมานานหลายทศวรรษ และจากคนที่เส้นทางของเราได้พามาผ่านพบเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ผมขอขอบคุณทุกๆ คน ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้ติดต่อมา แต่ผมรู้ว่าคุณระลึกถึงพวกเราอยู่ในใจ
ผมกล่าวถึงประณัยยาและอาร์เธอร์ในคำไว้อาลัยของผม และสองจิตสองใจเกี่ยวกับการโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย แต่ด้วยสาเหตุการจากไปอันน่าโศกเศร้าของพวกเขา ผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภาวะช่วงปริกำเนิด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะ ซึมเศร้าหลังคลอด (“PPD”)
ถ้าพิจารณาดูโดยรวม เราไม่ควรสูญเสียพวกเขาไป —ความสัมพันธ์ของเราในฐานะคู่รักไม่สามารถดีไปกว่านี้ได้ อาเธอร์เป็นเด็กที่มีความสุขและมีสุขภาพแข็งแรง เรามีชีวิตที่สะดวกสบายด้วยกำลังทรัพย์ที่เพียงพอ ครอบครัว (และเพื่อนฝูง) ของเรามีความรักใคร่ปรองดองและใส่ใจกันดี ไม่มีประวัติทางกรรมพันธุ์ และประณัยยาก็ไม่เคยมีปัญหาสุขภาพจิตมาก่อน
เราเคยคุยกันว่าเราโชคดีแค่ไหนกับปัจจัยข้างต้นทั้งหมด และประณัยยาก็รับทราบเรื่องนี้ แต่กลับบอกว่ามันไม่ได้ช่วยให้ความรู้สึกเธอดีขึ้นเลย และยังยอมรับว่ามันช่างแปลกจริง สิ่งนี้คือธรรมชาติของภาวะโรคซึมเศร้า
พวกคุณที่รู้จักประณัยยา จะรู้ว่าเธอเป็นคนที่มีความสุขและมองโลกในทางบวก เธอเข้ากับเด็กได้ดี มีจิตใจโอบอ้อมอารีและเอาใจใส่ผู้อื่นเสมอ และเวลาอยู่ด้วยกันที่บ้าน — เธอก็เป็นเช่นนั้น สวยงามทั้งที่บ้านและในที่สาธารณะ
จากการตั้งครรภ์ที่ไม่สำเร็จในครั้งแรก และมีตรวจพบก้อนซีสต์ในปี 2562 อีกทั้งช่วงไตรมาสแรกของการ ตั้งครรภ์ที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์นัก เรารู้สึกตื่นเต้นและมีความสุขมากเมื่อประณัยยาให้กำเนิดลูกชายที่มีความสุขและมีแข็งแรงเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
จากคำแนะนำของเพื่อนในช่วงนั้น ทำให้เราได้รู้จัก โรคซึมเศร้าหลังคลอด และเมื่อเธอเริ่มมีภาวะซึมเศร้า เราจึงพยายามหาวิธีการรักษาต่างๆ เพื่อจัดการมันในช่วงเริ่มต้น โดยผมและครอบครัวของเธอผลัดกันให้ความช่วยเหลือ และทำทุกสิ่งที่เราสามารถทำได้ใน สภาพการณ์ตอนนั้น
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยภายนอกที่สำคัญมากที่ทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น นั่นคือโควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการล็อคดาวน์ครั้งล่าสุดในกรุงเทพฯ ซึ่งก่อให้เกิดความวิตกกังวลในระดับสูงก่อนที่จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า เธอเริ่มกังวลอย่างมากกับความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด และผลกระทบที่จะเกิดถ้าเราคนใดคนนึงติดโรค นอกจากนี้ การที่ร้านอาหาร สวนสาธารณะ และสถานที่อื่นๆ ปิดให้บริการ การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมก็ได้เพียงเล็กน้อย เธอจึงไม่สามารถบรรเทาความทุกข์ทรมานในแต่ละวันของเธอได้ จนเธอรู้สึกเหมือนติดกับดักทั้งทางร่างกายและจิตใจ
เราสองคนใช้เวลานานกว่าจะมาถึงตรงนี้ มันเป็นสิ่งที่เราเฝ้ารอคอยมาตลอด ประณัยยาได้ต่อสู้อย่างแข็งแกร่ง สำหรับคนที่มีปัญหาในช่วงตั้งครรภ์ คุณก็รู้ว่ามันเป็นเรื่องยากแค่ไหนสำหรับแม่มือใหม่ จากการอดหลับ อดนอนและทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น เธอมักจะพูดว่าทำไมอะไรมันยากเหลือเกิน และเราก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือเธอ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและสุขภาพจิตจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างจริงจัง ในแง่ทางวิทยาศาสตร์ กรณีของประณัยยาค่อนข้างจะไม่เหมือนคนอื่น เพราะนอกจาก โควิดแล้ว (ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมาก) ไม่มีปัจจัย ภายนอกอื่นๆ เลย การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและสารเคมีในสมองที่คุณแม่มือใหม่ประสบอาจเกิดขึ้นรุนแรง ดังที่เน้นในสถานการณ์นี้ ซึ่งส่งผลต่ออาการภายใน และทางสรีรวิทยาของภาวะซึมเศร้าด้วย
ความอับอายกับปัญหาสุขภาพจิตจะต้องถูกกำจัด ดังที่เห็นได้ชัดเจนจากเหตุการณ์นี้ มันไม่ใช่ความผิดของ ผู้ป่วย และเราจำเป็นต้องดูแลผู้ที่กำลังป่วย ด้วยความเป็นเธอ…ประณัยยามักจะพูดว่า “ขอโทษที่ทำให้เกิดปัญหา” และผมก็จะบอกเธอเสมอว่าอย่าพูดแบบนั้น โดยย้ำว่ามันไม่ใช่ความผิดของเธอ สุดท้ายแล้วมันคือโรคและจำเป็นต้องได้รับการรักษาดูแลเช่นนั้น
อย่างไรก็ตาม การกำจัดตราบาปนั้น ทำได้สองทาง เราต้องให้การดูแลและทำให้เขาเหล่านั้นรู้สึกสบายใจที่จะเปิดใจ อย่างน้อยก็ยอมรับว่าเขากำลังมีปัญหา และในทางกลับกัน คนที่กำลังมีความทุกข์ทรมานไม่ควรอดกลั้นทุกสิ่งไว้ และควรรู้สึกว่าพวกเขาขอความช่วยเหลือได้
มีคำไทยที่ผมได้เรียนรู้เมื่อระยะหลังนี้ คือคำว่า “เกรงใจ” ไม่มีคำแปลที่ตายตัวในภาษาอังกฤษ แต่หมายถึงการพินิจพิจารณาที่จะไม่รบกวนคนอื่น ถ้าเราจะพูดถึงปัญหาสุขภาพจิต ที่ไม่สามารถมองไม่เห็นเหมือนอย่างเช่นขาหัก อย่า “เกรงใจ”
นับตั้งแต่ได้พูดถึงภาวะซึมเศร้าหลังคลอดของประณัยยากับคนอื่นๆ ในช่วงที่เธอเริ่มมีอาการ จนถึงตอนนี้หลังจากที่เราสูญเสียเธอและอาเธอร์ไป เป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากที่มีหลายคนเหลือเกินเปิดใจเกี่ยวกับอาการซึมเศร้าหลังคลอด และปัญหาสุขภาพจิตต่างๆ ที่พวกเขาประสบเอง หรือเกี่ยวกับคนที่พวกเขารู้จัก มันมีอยู่ทุกที่ และเป็นเพราะผู้คนไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เมื่อคนที่เรารู้จักเริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต พวกเขาก็จะเก็บมันไว้และไม่รู้ว่าจะหันไปพึ่งใคร สิ่งนี้จะต้องเปลี่ยนแปลง
ชีวิตเป็นสิ่งมีค่า รักคนรอบตัวคุณ ถามไถ่ถึงกันเป็นระยะๆ
และสำหรับคนที่กำลังประสบความทุกข์เหล่านั้น อย่า “เกรงใจ” มากเกินไป เพื่อนและครอบครัวของคุณห่วงใยคุณและต้องการช่วยเหลือคุณในทุกวิถีทางที่จะรับมือกับสิ่งที่ชีวิตต้องพบเจอ คุณไม่ได้อยู่เพียงลำพัง
- โพสต์ครั้งแรกบน Facebook เมื่อเดือนตุลาคม 2021