ผลกระทบของโรคซึมเศร้าหลังคลอดต่อทารก
โรคซึมเศร้าหลังคลอดเป็นอาการอันซับซ้อนที่ประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จิตใจ และการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมซึ่งเกิดกับคุณแม่หลายคนหลังคลอด
โรคนี้พบได้ใน 15% ของคุณแม่มือใหม่ โดยไม่ได้มีผลกระทบต่อคุณแม่เท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อทารกอีกด้วย
โรคซึมเศร้าหลังคลอดส่งผลต่อทารกอย่างไร
โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression) ส่งผลกระทบต่อคุณแม่และความสามารถในการดูแลตนเองและลูกน้อย
สาเหตุการเกิดโรคเป็นเพราะหลังจากการคลอดฮอร์โมนในร่างกายจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลกระทบต่ออารมณ์ของคุณแม่ อารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงอาจทำให้เกิดความคิดด้านลบต่อลูก และเมื่อมีความรู้สึกแย่ ๆ ต่อลูกน้อย หรือรู้สึกแย่ต่อสถานการณ์ที่เป็นอยู่ คุณแม่จึงอาจมีความรู้สึกผิด และเกิดเป็นโรคซึมเศร้าในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นคุณแม่มือใหม่มักมีปัญหาในการนอนหลับซึ่งทำให้อาการแย่ลง และกลายเป็นวงจรปัญหาอีกต่อไป
ผลที่ได้คือคุณแม่มีอาการซึมเศร้า ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ไม่สมบูรณ์สำหรับทารกได้
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอดอาจส่งผลต่อพัฒนาการในวัยเด็กของทารกได้ และอาจมีผลในระยะยาวต่อทารกไปจนถึงช่วงวัยรุ่นตอนปลาย จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณแม่ และคนรอบข้างจะต้องสังเกตอาการแต่เนิ่น ๆ และรักษาโรคซึมเศร้าหลังคลอดให้เร็วที่สุดก่อนจะมีผลเสียตามมา
ผลกระทบต่อพัฒนาการในวัยเด็ก
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าพัฒนาการหลัก ๆ 4 ด้าน ของทารกอาจได้รับผลกระทบจากอารมณ์ของคุณแม่ได้ดังนี้
พัฒนาการด้านร่างกาย
งานวิจับพบว่าทารกที่มีคุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดระดับกลางจนถึงรุนแรงจะแสดงออกว่ามีพัฒนาการทางร่างกายช้าเมื่ออายุครบ 1 ปี
พัฒนาการทางปัญญา
ทารกที่มีคุณแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดระดับรุนแรงมากเท่าไร ก็จะมีโอกาสที่จะมีพัฒนาการทางปัญญาช้าลงเท่านั้น และมักมีโอกาสที่จะไม่ผ่านการทดสอบของเพียเจต์เรื่องการคงอยู่ของวัตถุมากขึ้น ซึ่งการทดสอบนี้เป็นการทดสอบสำคัญในการวัดความสามารถทางปัญญาของทารก
พัฒนาการทางอารมณ์และสังคม
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าโรคซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่สามารถส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางอารมณ์และสังคมของลูก โดยงานวิจัยหนึ่งที่ศึกษาคุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกแสดงให้เห็นว่าทารกที่มีแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะแสดงความรักออกมาน้อยกว่า ไม่ค่อยโต้ตอบกับการสื่อสาร ขาดสมาธิ แสดงออกทางลบมากกว่า และขาดความสามารถในการเข้าสังคมกับคนแปลกหน้า ในทางเดียวกันก็พบความเชื่อมโยงระหว่างความสัมพันธ์แบบไม่มั่นคงในทารกอายุ 12 เดือน กับการมีแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดอีกด้วย
พัฒนาการทางพฤติกรรม
โรคซึมเศร้าหลังคลอดของคุณแม่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมต่าง ๆ ของทารก เด็ก ๆ ที่มีแม่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดจะมีโอกาสมีปัญหาทางพฤติกรรมมากกว่าเมื่ออายุ 18 เดือน เช่นปัญหาในการนอน การกิน ปัญหางอแงขี้โวยวาย และมีปัญหาในการแยกจาก
ผลกระทบในระยะยาว
งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการเป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดอย่างต่อเนื่องจะเพิ่มโอกาสในการเกิดปัญหาในเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน เช่น พัฒนาการทางสติปัญญาล่าช้า พัฒนาการทางภาษาล่าช้า ความสัมพันธ์แบบไม่มั่นคงและไม่แน่นอน มีโอกาสเกิดปัญหาทางพฤติกรรม และผลการเรียนต่ำ
โรคซึมเศร้าไม่ใช่ความผิดของคุณแม่ และสามารถรักษาได้!
คุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าหลังคลอดตกเป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย ซึ่งเกิดจากปริมาณฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปหลังคลอด ดังนั้นคุณแม่จึงต้องการความช่วยเหลือเพื่อจะปรับตัวกับสถานการณ์นี้
หากคุณสงสัยว่ามีอาการโรคซึมเศร้าหลังคลอด หรือมีความเครียดทางอารมณ์ที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการดูแลลูก ควรปรึกษาคนที่ไว้ใจ บอกคู่ครอง หรือพยายามหากลุ่มคนที่เข้าใจปัญหาเหมือน ๆ กันเพื่อช่วยสนับสนุนกันและกัน และขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญก่อนที่โรคนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณและลูก เมื่อได้รับความช่วยเหลือแล้วคุณจะสามารถป้องกันไม่ให้อาการแย่ลงและกลับมาเป็นปกติได้
ขอขอบคุณ
บทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนี้ถูกจัดทำขึ้นจากการร่วมมือและการสนับสนุนจาก Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation และ Mali Family Health เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อ
รับรองโดย
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต)
-
● Postpartum Depression and Its Long-Term Effects on Children, Pharmacy Times https://www.pharmacytimes.com/view/patient-focus-postpartum-depression-and-its-longterm-effects-on-children
● Effects of postnatal depression on infant development, Archives of Disease in Childhood https://adc.bmj.com/content/77/2/99
● Consequences of maternal postpartum depression: A systematic review of maternal and infant outcomes, National Library of Medicine https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6492376/
● The impact of postpartum depression and bonding impairment on child development at 12 to 15 months after delivery, Science Direct https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2666915321000524
● The Long-Term Impact of Maternal Anxiety and Depression Postpartum and in Early Childhood on Child and Paternal Mental Health at 11–12 Years Follow-Up, Frontiers https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyt.2020.562237/full