การรับมือกับความสูญเสีย
เมื่อเผชิญกับความสูญเสียคนที่รัก หรือเสียของรักบางอย่าง คุณอาจมีความรู้สึกเศร้าเกินกว่าที่จิตใจจะรับได้ ซึ่งถือเป็นปฏิกริยาตามธรรมชาติ
ความเศร้าโศกนับเป็นความท้าทายแบบหนึ่ง ยิ่งความสูญเสียมากเท่าไร ความเศร้าก็จะยิ่งทวีคูณมากเท่านั้น ความเจ็บปวดจากการสูญเสียอาจทำให้รู้สึกทนไม่ไหว อาจทำให้คุณนอนหลับยาก หลับไม่สนิท ตื่นง่าย ไม่อยากทานอาหาร ไม่สามารถใช้ความคิดได้ตามปกติ หรือไม่สามารถมีความสุขกับสิ่งที่เคยทำได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ โปรดอย่ารู้สึกละอายในความรู้สึกตัวเอง และโปรดทราบว่าความรู้สึกเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติและจะสามารถค่อย ๆ ลดลงได้ด้วยการใช้เวลาและความพยายาม
ความสูญเสียที่ทำให้เกิดความเศร้า
ความสูญเสียในรูปแบบใด ๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ทำให้เกิดความเศร้าได้ รวมถึงความสูญเสียต่อไปนี้:
● การสูญเสียคนรัก
● การสูญเสียความสัมพันธ์
● การสูญเสียทางสุขภาพ
● การสูญเสียด้านการเงิน
● การสูญเสียสัตว์เลี้ยง
● การสูญเสียความฝันที่ต้องการ
● การสูญเสียเพื่อน
● การสูญเสียความรู้สึกปลอดภัยหลังเกิดความบอบช้ำทางจิต
● การสูญเสียที่อยู่อาศัย
● การแท้งบุตร
การสูญเสียที่กล่าวมาอาจทำให้เกิดความเศร้าโศก และคุณอาจรู้สึกถึงอารมณ์ที่จัดการได้ยากและไม่คาดคิดดังต่อไปนี้:
● ความท้อแท้สิ้นหวัง
● รับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น
● ความเศร้าอย่างลึกซึ้ง
● ความรู้สึกผิด
● ความโกรธ
● ความอิจฉา
● ความรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างมาก
หากคุณรู้สึกถึงอารมณ์เหล่านี้หลังการสูญเสีย โปรดทราบว่าอารมณ์เหล่านี้เป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของจิตใจ และจะสามารถดีขึ้นได้เมื่อเวลาผ่านไป
การสูญเสียลูกจากการแท้งบุตร
ในกรณีที่มีการแท้งบุตร คุณแม่จะต้องรับมือกับอาการทางร่างกาย และความกดดันที่จะต้องตั้งครรภ์อีกครั้ง แพทย์จะแจ้งให้คุณทราบว่าเมื่อไรที่ควรพยายามตั้งครรภ์อีก แต่ความพร้อมทางร่างกายก็ไม่เหมือนกับความพร้อมทางจิตใจ ดังนั้นควรดูให้แน่ใจว่าคุณพร้อมจริง ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจก่อนพยายามมีลูกอีกครั้ง การตั้งครรภ์ครั้งต่อไปไม่สามารถทดแทนการสูญเสียทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นไม่ควรรีบเกินไปแต่ควรให้เวลาในการไว้อาลัยอย่างเต็มที่จะดีกว่า
การรับมือกับความสูญเสียคนที่รัก
การรับมือกับความสูญเสียคนรักถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ของชีวิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพกาย การกิน การนอน หรือทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้
ความสูญเสียส่วนใหญ่ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ และไม่ได้ตั้งใจให้เกิด ดังนั้นจึงไม่สามารถทำอะไรเพื่อป้องกันได้ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการหาทางอยู่ให้ไหวและเดินหน้าต่อไป สิ่งที่ทำได้เพื่อการดูแลตัวเองมีดังนี้:
● พยายามพูดคุยกับคนอื่น ๆ ที่เคยผ่านสถานการณ์แบบเดียวกัน คนที่เคยเสียคนที่รักจะเข้าใจสิ่งที่คุณกำลังประสบอยู่ได้มากกว่าคนอื่น ๆ
● ไปพบคนที่ห่วงใยคุณ และคนที่เป็นกำลังใจให้คุณ
● พยายามดูแลจิตใจตัวเองด้วยการดูแลร่างกายให้ดี
● ทำความเข้าใจว่าความเศร้าอาจทำให้เกิดอารมณ์อันหลากหลายมากมาย ส่งผลให้มีอาการซึมเศร้า ซึ่งต้องขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ
ทั้งหมดนี้อาจใช้เวลานาน แต่ด้วยการใช้เวลาและความช่วยเหลือต่าง ๆ คุณจะสามารถฟื้นฟูตัวเอง จัดการความเศร้า และเดินหน้าต่อไปได้ในที่สุด
ขอขอบคุณ
บทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอดนี้ถูกจัดทำขึ้นจากการร่วมมือและการสนับสนุนจาก Pranaiya & Arthur Magoffin Foundation และ Mali Family Health เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นสำหรับคุณพ่อคุณแม่และลูกน้อ
รับรองโดย
เกศสุภา จิระการณ์ (นักสุขภาพจิต)
-
● Coping with Grief and Loss, Health Guide https://www.helpguide.org/articles/grief/coping-with-grief-and-loss.htm
● Coping with loss, Johns Hopkins Medicine https://www.hopkinsmedicine.org/health/caregiving/coping-with-loss
● Pregnancy Loss: Processing the Pain of Miscarriage, Healthline https://www.healthline.com/health/coping-with-miscarriage
● Coping with Miscarriage, Standford Medicine, Children’s Health https://www.stanfordchildrens.org/en/topic/default?id=coping-with-miscarriage-1-4036